นิราศนรินทร์คำโคลง
ผู้แต่ง[แก้]
ผู้แต่งนิราศนรินทร์
คือนายนรินทรธิเบศร์ (มิใช่ชื่อตัว
แต่เป็นบรรดาศักดิ์ในสมัยโบราณ) มีนามเดิมว่า อิน ในตำรารุ่นเก่า
มักเขียนเป็น นายนรินทรธิเบศร์ (อิน)
ได้แต่งนิราศเรื่องนี้เมื่อคราวตามเสด็จสมเด็จพระบวรราชเจ้า
มหาเสนานุรักษ์ยกกองทัพหลวงไปปราบพม่า ซึ่งยกลงมาตีเมืองถลางและชุมพร ในช่วงต้นรัชกาลที่
2 เมื่อปีมะเส็ง (พ.ศ. 2352)
นิราศเรื่องนี้ผู้แต่งไม่ได้ระบุชื่อเอาไว้ แต่เรียกกันโดยทั่วไปตามชื่อผู้แต่ง ว่า
“นิราศนรินทร์”
เนื้อหา[แก้]
เป็นการคร่ำครวญและพรรณนาความรู้สึกอาลัยอาวรณ์
ที่มีต่อหญิงคนรัก และเล่าถึงการเดินทาง เมื่อผ่านภูมิประเทศต่างๆ เริ่มจากคลองขุด
ถึงวัดแจ้ง (วัดอรุณ)
เข้าคลองบางกอกน้อย และล่องเรือไปจนถึงอ่าวไทย แล้วขึ้นบกที่เพชรบุรี
คำประพันธ์[แก้]
นิราศนรินทร์แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ 143
บท โดยมีร่ายสุภาพขึ้นต้น
1 บท ผู้แต่งประณีตในการคัดสรรคำและความหมาย ร้อยกรองเป็นบทโคลงที่ไพเราะ
ทั้งยังมีสัมผัสอักษรแพรวพราวตามขนบของคำโคลง อาจกล่าวได้ว่า แทบไม่มีโคลงบทไหนเลย
ที่อ่านแล้วไม่รู้สึกถึงความไพเราะงดงาม อย่างไรก็ตาม
ด้วยสำนวนภาษาที่เก่าถึงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น
จึงมีคำศัพท์จำนวนไม่น้อยที่เข้าใจยาก
หรือเป็นที่ถกเถียงกันโดยยังไม่มีข้อยุติ
นิราศเรื่องนี้เป็นที่ยกย่องกันมาก
ถึงกับยกเปรียบกับวรรณคดีรุ่นเก่าอย่างโคลงกำสรวล ในเรื่องนี้ สมเด็จฯ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังได้ทรงพระนิพนธ์คำนำหนังสือนิราศนรินทร์เอาไว้
ตอนหนึ่งมีข้อความว่า “...มีผู้สันนิษฐานว่านายนรินทรธิเบศร์ (อิน) แต่งเอาอย่าง
หรือเลียนแบบโคลงนิราศกำสรวลศรีปราชญ์ ซึ่งแต่งในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อเทียบเคียงกันแล้ว
กลับเห็นว่าแต่งดีกว่าเรื่องกำสรวลศรีปราชญ์
ตัวอย่างจากนิราศนรินทร์[แก้]
๑.
๏ ศรีสิทธิ์พิศาลภพ เลอหล้าลบล่มสวรรค์ จรรโลงโลกกว่ากว้าง แผนแผ่นผ้างเมืองเมรุ
ศรีอยุธเยนทร์แย้มฟ้า แจกแสงจ้าเจิดจันทร์ เพียงรพิพรรณผ่องด้าว ขุนหาญห้าวแหนบาท
สระทุกข์ราษฎร์รอนเสี้ยน ส่ายเศิกเหลี้ยนล่งหล้า ราญราบหน้าเภริน เข็ญข่าวยินยอบตัว
ควบค้อมหัวไหว้ละล้าว ทุกไทน้าวมาลย์น้อม ขอออกอ้อมมาอ่อน ผ่อนแผ่นดินให้ผาย
ขยายแผ่นฟ้าให้แผ้ว เลี้ยงทแกล้วให้กล้า พระยศไท้เทิศฟ้า เฟื่องฟุ้งทศธรรม ท่านแฮ
๚ะ
๒.๏ อยุธยายศล่มแล้ว | ลอยสวรรค์ ลงฤๅ | |
สิงหาสน์ปรางค์รัตน์บรร- | เจิดหล้า | |
บุญเพรงพระหากสรรค์ | ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ | |
บังอบายเบิกฟ้า | ฝึกฟื้นใจเมือง ๚ะ |
(กรุงศรีอยุธยาแตกไปแล้ว
แต่กลับลอยลงมาจากสวรรค์อีกหรืออย่างไร มีปราสาทพระราชวังอันงดงามตระการตา
ด้วยบุญบารมีของพระมหากษัตริย์ช่วยทนุบำรุงพระศาสนาให้รุ่งเรือง
ปัดเป่าทุกข์ให้แก่ไพร่ฟ้าชาวประชา)
นักวรรณคดีมักเปรียบเทียบโคลงบทนี้
กับโคลงดั้นจากโคลงกำสรวล ซึ่งขึ้นบาทแรกด้วยสำนวนคล้ายกัน
ดังต่อไปนี้ ซึ่งเป็นบทชมพระนครเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ผู้แต่งอาจชื่นชมโคลงจากโคลงกำสรวล
ซึ่งชื่นชมพระนครเมื่อครั้งยังรุ่งเรือง
๑. ๏ อยุธยายศยิ่งฟ้า | ลงดิน แลฤๅ | |
อำนาจบุญเพรงพระ | ก่อเกื้อ | |
เจดียลอออินทร | ปราสาท | |
ในทาบทองแล้วเนื้อ | นอกโสรม ๚ะ |
๗. ๏ อยุธยายศโยกฟ้า | ฟากดิน | |
ผาดดินพิภพดยว | ดอกฟ้า | |
แสนโกฎบยลยิน | หยากเยื่อ | |
ไตรรัตนเรืองรุ่งหล้า | หลากสรรค ๚ะ | |
— (โคลงกำสรวล) |
นอกจากนี้ในโคลงหมายเลข ๒๒. ยังถือเป็นแม่แบบของโคลงสี่สุภาพบทหนึ่งด้วย
๒๒. ๏ จากมามาลิ่วล้ำ | ลำบาง | |
บางยี่เรือราพลาง | พี่พร้อง | |
เรือแผงช่วยพานาง | เมียงม่าน มานา | |
บางบ่รับคำคล้อง | คล่าวน้ำตาคลอ ๚ะ |
ด้วยโคลงบทนี้ใช้คำเอก 7 โท 4 และที่เหลือเป็นคำสุภาพทั้งหมด จึงใช้เป็นแม่แบบสำหรับการแต่งโคลงสี่สุภาพได้เป็นอย่างดี
ในตอนท้ายๆ
ผู้แต่งยังได้เอ่ยถึงวรรณคดีรุ่นเก่าอีกสองเรื่อง คือ กำสรวลศรีปราชญ์ และทวาทศมาส ซึ่งเป็นนิราศคำโคลงเช่นเดียวกัน
๑๒๔. ๏ กำสรวลศรีปราชญ์พร้อง | เพรงกาล | |
จากจุฬาลักษณ์ลาญ | สวาทแล้ว | |
ทวาทศมาสสาร | สามเทวษ ถวิลแฮ | |
ยกทัดกลางเกศแก้ว | กึ่งร้อนทรวงเรียม ๚ะ |
โคลงบทสุดท้าย
(๑๔๔) ผู้แต่งได้ระบุชื่อตนเอาไว้ด้วย ดังนี้
๑๔๔. ๏ โคลงเรื่องนิราศนี้ | นรินทร์อิน | |
รองบาทบวรวังถวิล | ว่าไว้ | |
บทใดปราชญ์ปวงฉิน | เชิญเปลี่ยน แปลงพ่อ | |
ปรุงเปรียบเสาวคนธ์ไล้ | เลือกลิ้มดมดู ๚ะ |